อีเมล์ภาษาไทย อัพเดทข่าวไอทีกับ 10000TIPsIT มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย หรือ THNICF เป็นผู้นำร่องและผลักดันแนวทางการใช้อีเมล์ภาษาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA จัดเวทีสัมมนาเพื่อหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบการใช้งาน Email Address Internationalization (EAI) ในประเทศไทย รวมถึงชี้ให้เห็นความสำคัญของอินเตอร์เน็ตภาษาท้องถิ่นและเตรียมแผนรองรับในองค์กรและผู้ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นและระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ ความสำคัญที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้บนอินเตอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่เนื่องจากเดิมอินเตอร์เน็ตใช้ภาษาอังกฤษในการเข้าถึง และจำนวนผู้ไม่ใช้ภาษาอังกฤษในหลายประเทศมีจำนวนมากกว่าผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี หรือ Digital Divide เพราะคนที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษก็ไม่สะดวกที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพื่อเริ่มต้นแก้ปัญหาดังกล่าว
ในประเทศไทย มูลนิธิได้ดำเนินการให้เกิด IDN หรือ โดเมนภาษาท้องถิ่น ขึ้นภายใต้ .ไทย รวมถึง EAI ซึ่งคือชื่อโดเมนภาษาท้องถิ่นที่ใช้ตัวอักษรไทยทั้งหมด โดยการจัดงานในครั้งนี้ มุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้วางแนวทางการใช้งาน EAI ในประเทศไทย ตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย กล่าวว่า จากการศึกษาถึงความเข้ากันได้ของระบบอีเมล์ต่างๆ ซึ่งได้แก่ Afilias, Crossflow, Coremail, Gmail, Hotmail และ Yahoo นั้น ยังมีระดับการรองรับ EAI ที่แตกต่างกัน โดยแยกประเด็นทดสอบเป็นการส่ง การรับ การตอบกลับ และการแนบชื่อ (cc) อีเมล์ ซึ่งปนกันระหว่าง EAI และอีเมล์อักษรละตินดั้งเดิม การทดสอบแสดงให้เห็นว่าการรับส่งอีเมล์แอดเดรสภาษาไทยระหว่าง Afilias, Crossflow และ Coremail สามารถทำได้ และสามารถส่งอีเมล์ไปยัง Gmail, Hotmail และ Yahoo ได้ สำหรับระบบ Hotmail และ Yahoo นั้นยังไม่สามารถส่งหาอีเมล์แอดเดรสผู้รับในภาษาไทยได้
ซึ่งการรับอีเมล์จากผู้ส่งนั้นจะแสดงผลเป็นอีเมล์แอดเดรสที่ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น ในขณะที่ Gmail นั้นสามารถส่งอีเมล์ไปยังอีเมล์แอดเดรสภาษาไทยของผู้รับ และยอมรับอีเมล์จากผู้ส่งที่ใช้อีเมล์แอดเดรสภาษาไทยโดยแสดงผลในภาษาไทยได้ แต่ผู้ใช้ยังไม่สามารถสร้างชื่อผู้ใช้งานภาษาไทยบนระบบ Gmail ได้ ทางด้านตัวแทนจากไมโครซอฟท์ ประเทศไทย โดยนายโอม ศิวะดิตถ์ กล่าวว่า สิ่งที่ไมโครซอฟท์กำลังดำเนินการ คือการปรับปรุงซอฟต์แวร์และบริการต่างๆ ให้รองรับยูนิโค้ด และ TLD หรือโดเมนระดับบนสุด ซึ่งเป็นภาษาต่างๆ โดยอาจจะจำเป็นต้องปรับปรุงเครื่องมือสำหรับผู้พัฒนาและไลบรารี่ต่างๆ ซึ่งการปรับปรุงจะกระทบถึงการทำงานร่วมกันในหลายๆ ระบบ รวมถึงกูเกิล ไอดี, แอนตี้สแปม, แอนตี้ฟิชชิ่ง และระบบออนไลน์ แบงกิ้ง เป็นต้น โดยไมโครซอฟท์ได้ทดสอบการทำงานของ Outlook 2016 เวอร์ชั่น Beta กับอีเมล์แอดเดรสภาษาไทยของทาง THNICF พบว่าสามารถรองรับการใช้งานอีเมล์แอดเดรสภาษาไทยได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นดังกล่าวไปทดลองใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ไมโครซอฟท์
ด้านนายสุภัทรพรนภารองประธานด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรูเวฟ จำกัด ผู้พัฒนาระบบ CrossFlow ซึ่งเป็นอีเมล์แพลตฟอร์มที่รองรับอีเมล์แอดเดรสภาษาไทยตามมาตรฐาน RFCs กล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีความสามารถที่จะตรวจสอบระบบผู้รับปลายทางว่าสามารถรองรับการเข้ารหัสอีเมล์แอดเดรสวิธีใด ก็จะปรับวิธีการส่งให้เหมาะกับผู้รับปลายทางแต่ละรายได้ โดยหากองค์กรใดสนใจสามารถติดต่อทางทรูเวฟเพื่อร่วมกันทดสอบความเข้ากันได้ของระบบ ทั้งนี้ การปรับปรุงระบบเพื่อรองรับ EAI อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบจากทั้งฝั่งผู้ให้บริการโฮสต์และผู้พัฒนาเว็บไซต์ แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะผลักดันอีคอมเมิร์ซลงสู่กลุ่มประชาชนรากหญ้าที่มีจำนวนมากให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยในเวทีสัมมนาต่างมีความเห็นตรงกันว่าควรเริ่มจากภาครัฐมีนโยบายมาสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวก่อน รวมถึงการสนับสนุนให้องค์กรส่วนท้องถิ่นได้เริ่มใช้ชื่อโดเมนและมีอีเมล์แอดเดรสเป็นภาษาไทย เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสถานีตำรวจภูธร รวมถึงการสร้างมาตรฐานและแนวทางในการนำ EAI มาใช้กับประเทศไทยอย่างจริงจัง ที่มา – matichon