เครื่องสกิมเมอร์ ระบาดหนักที่ขอนแก่น แก้งโจรกรรมข้อมูล ATM อาละวาด ยังจับไม่ได้

เครื่องสกิมเมอร์ อัพเดทข่าวไอทีกับ 1000TIPsIT แจ้งเตือนภัยเหตุไม่ปกติใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้มีกลุ่มมิจฉาชีพ เข้ามาติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ที่ตู้ ATM ภายในเขต อ.เมืองขอนแก่น และขโมยข้อมูลภายในบัตรไปกดเงินแล้วหลายราย สภ.เมืองขอนแก่น จึงขอฝากมายังพี่น้องประชาชน ก่อนที่จะกดเงินที่ตู้ ATM โปรดสังเกตุความผิดปกติดังนี้ ตรวจดูสิ่งผิดปกติรอบตู้เอทีเอ็มก่อนใช้งาน เพื่อดูว่ามีกล้องตัวเล็กซุกซ่อนอยู่หรือไม่ เครื่องสกิมเมอร์ โดยมิจฉาชีพอาจติดกล่องใส่ใบปลิวไว้บริเวณเครื่อง เพื่อใช้ซ่อนกล้อง ถ้าพบเห็นกล่องใส่ใบปลิวแปลก ๆ ไม่ควรใช้เครื่องดังกล่าว และควรแจ้งให้ธนาคารทราบทันที ตรวจสอบบริเวณที่สอดบัตร หรือตรงแป้นกดตัวเลขว่ามีอุปกรณ์แปลกปลอมติดอยู่หรือไม่ หากสังเกตเห็นอุปกรณ์แปลกปลอม ให้รีบแจ้งให้ธนาคารทราบ ลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ต่าง ๆ ของตู้เอทีเอ็มดู เพราะหากมีตัวสกิมเมอร์ติดอยู่ การโยกอาจจะทำให้ตัวสกิมเมอร์หลุดออกมาได้ เนื่องจากปกติแล้ว คนร้ายจะไม่ติดตั้งเครื่องนี้ไว้อย่างแน่นหนาเท่าใดนัก เพราะต้องถอดเครื่องสกิมเมอร์ไปใช้ติดตั้งตู้อื่น ๆ ด้วย หากเครื่องเอทีเอ็มเกิดขัดข้อง และบัตรติดอยู่ในเครื่อง ให้รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตรทันที เพราะการที่เครื่องขัดข้องอาจเป็นเล่ห์กลของคนร้ายที่ใช้เศษไม้ หรือไม้จิ้มฟันใส่เข้าไปในช่องอ่านบัตร เพื่อให้บัตรของผู้ใช้บริการติดอยู่ที่เครื่อง แล้วจะทำทีเข้ามาช่วยเหลือกดรหัสให้ หากใส่บัตรไปในเครื่องแล้วไม่มีไฟกะพริบรอบช่องเสียบบัตร

สกิมเมอร์ที่ตู้ ATM

ควรเปลี่ยนไปใช้ตู้อื่น เพราะตู้นั้นอาจมีการติดตัวสกิมเมอร์ไว้ดูดข้อมูล ซึ่งเบื้องต้น สภ.เมืองขอนแก่นได้ให้สายตรวจประสานทุกธนาคารออกตรวจสอบความผิดปกติของตู้ ATM ทุกตู้ในพื้นที่รับผิดชอบ ประชุมทีมสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมกลุ่มคนร้าย และประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทราบถึงวิธีการสังเกตุและป้องกันตัว หากมีเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม โปรดแจ้ง สภ.เมืองขอนแก่น สายด่วน 191 , 043-221162

วิธีสังเกต ตู้เอทีเอ็มปลอดจากเครื่องสกิมเมอร์หรือไม่

สำหรับ เครื่องสกิมเมอร์ (skimmer เครื่องดูดหรือกวาดข้อมูล) นั้น เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คนร้ายสร้างขึ้น โดยนำเครื่องอ่านแถบแม่เหล็ก วงจรถอดรหัส และวงจรหน่วยความจำมาประกอบเข้าด้วยกัน สกิมเมอร์มีหลายขนาดตั้งแต่เท่ากับกล่องใส่รองเท้าไปจนถึงขนาดเท่าซองบุหรี่ที่คนร้ายซ่อนไว้ในอุ้งมือได้ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จึงสามารถพกพาได้สะดวก เมื่อนำบัตรเครดิต (หรือบัตรเดบิตเช่นบัตร ATM) มารูด สกิมเมอร์จะอ่านข้อมูลจากแถบแม่เหล็กและนำไปเก็บไว้ในหน่วยความจำ สกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำน้อยจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้ 50 ใบ ส่วนสกิมเมอร์ที่มีหน่วยความจำมากอาจเก็บข้อมูลได้หลายหมื่นใบ และเมื่อลักลอบดูดข้อมูลจากบัตรเครดิตไปแล้ว คนร้ายก็จะนำไปสร้างบัตรปลอมซึ่งมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า “บัตรสี” เป็นบัตรเครดิตปลอมที่มีสี มีลวดลาย และมีตัวพิมพ์นูนเหมือนของจริงทุกอย่าง รวมทั้งมีข้อมูลในแถบแม่เหล็กอย่างถูกต้องอีกด้วย บัตรแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้ทุกแห่งเช่นเดียวกับบัตรจริง บัตรปลอมอีกแบบเรียกว่า “บัตรขาว” เป็นบัตรพลาสติกสีขาวมีเพียงแถบแม่เหล็กเก็บข้อมูล ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้ในหลายๆ แหล่ง เช่นนำไปกดเงินสดจากตู้ ATM หรือนำไปใช้กับร้านค้าที่ทุจริต คนร้ายบางคนไม่ทำบัตรปลอม แต่นำข้อมูลบัตรของเราไปขายในอินเตอร์เน็ตก็มี ที่มา – khonkaenlink , dailynews